การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนครั้งที่ 32 หรือโอลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020 ที่จัดขึ้นในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ที่ได้เปิดพิธีอย่างเป็นทางการสุดอลังการไปแล้วเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยเลื่อนจากกำหนดเดิมถึง 1 ปี และพิธีปิดจะจัดขึ้นในวันที่ 8 สิงหาคม 2564 นี้ รวมระยะเวลาจัดงานทั้งสิ้น 17 วัน ซึ่งระหว่างที่จัดการแข่งขันก็มีเรื่องราวสุดประทับใจและเป็นที่พูดถึงหลายเรื่องด้วยกัน จึงได้รวบรวมเกร็ดความรู้และเรื่องราวที่น่าสนใจมาฝาก ดังนี้
1. เพลงที่ใช้ในงานโอลิมปิก 2020 เป็นเพลงประกอบการ์ตูนแอนิเมชั่นและเกม
เพลงพิธีเปิดโอลิมปิก 2020 ทำให้แฟนเกมหลายคนตื่นเต้นเมื่อได้ยินเพลงที่ตัวเองรักและคุ้นเคย ในรูปแบบวงออร์เคสตร้าที่รวบรวมเพลงประกอบเกมดังเอาไว้นับสิบเกม ทำให้การเดินเข้าสนามของนักกีฬานั้นยิ่งใหญ่ขึ้นไปอีกหลายเท่า ราวกับพวกเขาเป็นตัวละครหลักของเกมนั้น
นอกจากนี้มหกรรมกีฬานานาชาติโอลิมปิก 2020 เราจะได้ยินเพลงจากแอมิเมะดังถูกเปิดระหว่างการแข่งขันกีฬาด้วย บางครั้งก็มาในฉากเปิดตัวนักกีฬา และบางครั้งก็มาเป็นเพลงคลอระหว่างการแข่ง ตัวอย่างรายชื่อเพลงที่เปิดระหว่างการแข่งขันกีฬาต่างๆ
บาสเกตบอล
เพลงที่เปิด : Kimi ga Suki da to Sakebitai จาก Slam Dunk
วอลเลย์บอล
เพลงที่เปิด : Imagination จาก Haikyuu
ยิงธนู
เพลงที่เปิด : Guren no Yumiya จาก Attack on Titan
ยูโด
เพลงที่เปิด : Kugutsuuta จาก Ghost in the Shell
ยิมนาสติกสากล
เพลงที่เปิด : Cry Baby จาก Tokyo Revengers
เพลงที่เปิด : Demon Slaying Corps จาก Demon Slayer (รอบคัดเลือก)
บทความและภาพบางส่วนจาก thestandard.co
2. ป้ายประกาศชื่อประเทศ ที่ออกแบบให้เหมือนกับกล่องคำพูดในหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่น
ป้ายประกาศชื่อประเทศที่ออกแบบให้เหมือนกับกล่องคำพูดในหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่น เป็นลายกล่องข้อความของมังงะ ในการเดินพาเหรดเปิดพิธีโอลิมปิกเข้าสู่สนามกีฬา ประเทศกรีซจะเป็นชาติแรกที่เดินเข้าสู่สนามตามธรรมเนียมโอลิมปิก ถัดมาจะเป็นกลุ่มนักกีฬาผู้ลี้ภัย และนักกีฬาจากประเทศที่เหลือ เรียงตามอักษรญี่ปุ่น ทำให้เราได้เห็นการประกาศชื่อประเทศที่แปลกออกไป ไม่เหมือนกับที่เคยดูในโอลิมปิกครั้งก่อน พิธีเปิดครั้งนี้แสดงให้โลกเห็นว่าสิ่งอันเล็กๆ น้อยๆ อย่างการ์ตูนและเกมนั้นไม่ใช่แค่สื่อบันเทิง แต่เป็นวัฒนธรรมของชาวญี่ปุ่น
3. ญี่ปุ่นคือชาติแรก ที่คิดค้น Pictogram สำหรับใช้ในโอลิมปิก
ในพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020 ซึ่งจบลงไปอย่างเรียบง่ายแต่งดงาม สร้างความประทับใจให้แก่ผู้ที่ได้รับชมทั่วโลก และได้เกิดการขโมยซีนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์พิธีเปิดการแข่งขัน กับการแสดงของ Pictogram หรือแผนภูมิรูปภาพประจำการแข่งขัน
โดยในการแสดงชุด The History of Pictogram นั้นเป็นการแสดงที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ของ Pictogram ที่ถูกนำมาใช้ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนปี 1964 ที่กรุงโตเกียว ด้วยว่าในขณะนั้นประเทศญี่ปุ่นอยู่ระหว่างการฟื้นฟูและเร่งพัฒนาประเทศหลังสงครามโลก ชาวญี่ปุ่นยังสื่อสารภาษาอังกฤษได้ไม่ดีนัก จึงได้มีการคิดและนำ Pictogram ซึ่งเป็นภูมิปัญญาจากอดีตมาปรับใช้ออกแบบใหม่ให้ดูเรียบง่าย แต่สามารถสื่อสารได้อย่างชัดเจน ซึ่งไม่ได้ออกแบบใช้เฉพาะสัญลักษณ์การแข่งขัน แต่ใช้สื่อสารกับแขกชาวต่างชาติในทุกเรื่องเพื่อช่วยเหลือและบริการทุกคน
บทความบางส่วนจาก thestandard.co
4. การออกแบบคบเพลิง โอลิมปิกเกมส์ 2020
แนวคิดการออกแบบคบเพลิงโอลิมปิกในครั้งนี้มีชื่อว่า Hope Lights Our Way ซึ่งมีความหมายว่า “คบเพลิงนี้เป็นเปลวไฟที่จะนำพาความหวังมาให้พวกเราทุกคน”
สำหรับพิธีเปิดมหกรรมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่จัดขึ้นในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น อย่างยิ่งใหญ่และสมการรอคอย มีอีกหนึ่งโมเมนต์สำคัญที่เป็นไฮไลต์ของงาน คือการวิ่งคบเพลิงโอลิมปิกเพื่อนำไปจุดเป็นนิมิตรหมายอันดีที่จะได้เริ่มต้นการแข่งขันขึ้น โดยในครั้งนี้ก็มีเหล่านักกีฬาอาชีพ อดีตนักเบสบอลอาชีพผู้สูงอายุ นักกีฬาพาราลิมปิก นักกีฬาเยาวชน และอีกหนึ่งบุคคลสำคัญในยามวิกฤตการณ์โควิด-19 อย่างแพทย์และพยาบาลที่ได้รับเกียรติให้มาร่วมวิ่งคบเพลิงโอลิมปิกในครั้งนี้อีกด้วย ซึ่งถือเป็นโมเมนต์น้ำตารื้นที่ทางญี่ปุ่นได้ให้ความสำคัญกับบุคลากรด่านหน้าที่ร่วมกันต่อสู้กับวิกฤตกาณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ตลอดมา
โดยนักกีฬาผู้ที่เป็นคนจุดคบเพลิงโอลิมปิกนั้นก็คือ Naomi Osaka นักเทนนิสหญิงชาวญี่ปุ่น มือวางอันดับ 2 ของโลกคนปัจจุบัน และเธอเคยขึ้นสู่ตำแหน่งมือวางอันดับ 1 ในปีค.ศ. 2019 ถือเป็นผู้เล่นชาวเอเชียคนแรกที่สามารถครองตำแหน่งมือวางอันดับ 1 ของโลกเลยทีเดียว
บทความและภาพบางส่วนจาก ellethailand.com
5. มาสคอตโอลิมปิก 2020 ชื่อว่า Miraitowa (มิไรโตวะ)
มิไรโตวะ คือมาสคอตโอลิมปิกตัวที่ 26 ของโลก มาจากการส่งเข้าประกวดของประชาชนทั่วไป และถูกโหวตโดยนักเรียนประถมชาวญี่ปุ่นจาก 16,700 โรงเรียนทั้งในและนอกประเทศ ทำให้ทุกคนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ได้มีส่วนร่วมในการจัดงานโอลิมปิกครั้งนี้
ชื่อของ Miraitowa มาจากคำสองคำที่มีความหมายดีงาม คือ Mirai ที่แปลว่า อนาคต ส่วน Towa ที่แปลว่า นิรันดร์ ดังนั้น มิไรโตวะ จึงเป็นตัวแทนของอนาคตที่เต็มไปด้วยความหวังนิรันดร์ในหัวใจของผู้คนทั่วโลก “มิไรโตะวะ” จึงมีความหมายว่า “อนาคตสดใสตลอดไป” และมีการออกแบบโดยใช้สีขาว-น้ำเงิน เพื่อสื่อถึงโลกดิจิทัลที่เชื่อมต่อการเดินทางระหว่างโลกจริงและโลกเสมือนจริงอย่างไร้พรมแดน
บทความบางส่วนจาก thestandard.co
6. เหรียญรางวัลโอลิมปิก 2020 ทำจากขยะอิเล็กทรอนิกส์
เหรียญรางวัลโอลิมปิกสำหรับผู้เข้าแข่งขันทำจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ จำพวกคอมพิวเตอร์-โทรศัพท์มือถือ ภายใต้คอนเซ็ปต์รักษ์โลก มีจำนวนทั้งหมด ประมาณ 5,000 เหรียญ ออกแบบโดย Junichi Kawanishi (จุนอิจิ คาวานิชิ) โดยด้านหลังเหรียญเป็นรูป “นิเค” เป็นเทพีชัยชนะของกรีก และมีกล่องเคสวัสดุทำจากไม้ไว้เพื่อเก็บเหรียญรางวัลด้วย เหรียญรางวัลมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 85 มิลลิเมตรและหนาประมาณ 12 มิลลิเมตร เท่ากับเหรียญโอลิมปิกฤดูร้อนที่ลอนดอนและรีโอเดจาเนโร
บทความบางส่วนจาก workpointtoday.com
7. เตียงสำหรับนักกีฬาโอลิมปิก 2020 ทำด้วยกระดาษคาร์ดบอร์ด
กระดาษลังที่เหลือใช้ ถูกนำมารีไซเคิลเป็นเตียงนอนสำหรับนักกีฬา ที่ออกแบบโดยบริษัทเครื่องนอนของญี่ปุ่น Airweave ทางผู้ผลิตได้ออกแบบมาให้มีน้ำหนักเบามาก สามารถเคลื่อนย้ายตามใจต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความยาวถึง 210 เซนติเมตร เพื่อรองรับนักกีฬาที่มีรูปร่างสูงยาว มีขนาดกว้าง 90 เซนติเมตร สูงจากพื้น 40 เซนติเมตร และสามารถรองรับน้ำหนักได้มากถึง 200 กิโลกรัม ผลิตขึ้นจำนวนกว่า 26,000 เตียง (รวมสำหรับผู้เข้าแข่งขันพาราลิมปิกเกมด้วย) และเมื่อจบการแข่งขันเตียงจะถูกนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นร่วมกับพลาสติกแบบโพลีเอธิลีน (PE)
บทความบางส่วนจาก bangkokbiznews.com
8. นักกีฬาข้ามเพศคนแรก ในโอลิมปิกเกมส์ 2020
นักกีฬาข้ามเพศคนแรกของโอลิมปิกเกมส์ 2020 และเป็นประวัติศาสตร์การแข่งขันโอลิมปิกเกมส์คือ Laurel Hubbard (ลอเรล ฮับบาร์ด) อายุ 43 ปี เข้าแข่งขันกีฬายกน้ำหนัก ประเภทยกลูกเหล็ก โดยทางคณะกรรมการโอลิมปิกสากลได้อนุมัติด้วยเหตุผลที่ว่า เธอมีเทสโทสเตอโรน หรือฮอร์โมนเพศชายไม่เกินกว่าที่กำหนดในเวลา 1 ปี
บทความและภาพบางส่วนจาก bangkokbiznews.com
9. กองทัพนักกีฬาไทย ที่ร่วมลงแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ 2020
นักกีฬาไทยผ่านการคัดเลือกและได้สิทธิ์เข้าร่วมโอลิมปิกเกมส์ 2020 รอบสุดท้าย 37 โควต้า รวมจำนวน 42 คน จาก 14 ชนิดกีฬา ยิงปืน&ยิงเป้าบิน , ขี่ม้า , เทควันโด , จักรยาน , เรือใบ&วินด์เซิร์ฟ , มวยสากล , กรีฑา , เทเบิลเทนนิส , เรือแคนู , เรือกรรเชียง , กอล์ฟ , ยูโด , ว่ายน้ำและแบดมินตัน
10. นักกีฬาไทยคนแรก ที่คว้าเหรียญทองในโอลิมปิก 2020
เมื่อวันที่ 24 กรกฏาคม 2564 เปิดฉากชิงเหรียญทองวันแรก และได้เฮลั่นประเทศ เมื่อ “เทนนิส” พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ นักกีฬาเทควันโดทีมชาติไทย วัย 24 ปี คว้าเหรียญทองประวัติศาสตร์โอลิมปิกเกมส์ 2020 หลังดวลกับสาวน้อยวัย 17 ปี ชาวสเปน ที่แข่งขันกันอย่างดุเดือดจนชนะแบบหวุดหวิด ด้วยคะแนน 11-10 คว้าเหรียญทองแรกและสร้างรอยยิ้มให้คนกับไทย
11. นักกีฬาจากประเทศจีน ที่คว้าเหรียญทองแรกในโอลิมปิก 2020
วันที่ 24 กรกฎาคม 2564 หยาง เฉียน นักกีฬาแม่นปืนจากประเทศจีน สามารถคว้าเหรียญทองแรกในมหกรรมโอลิมปิก 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ได้สำเร็จในการแข่งขันปืนไรเฟิล 10 เมตรหญิง ด้วยคะแนน 251.8 ซึ่งถือเป็นการทำลายสถิติโอลิมปิกเกมส์
12. เรื่องราวสุดประทับใจ เมื่อนักกีฬากระโดดสูงของ กาตาร์และอิตาลี ตัดสินใจครองเหรียญทองร่วมหลังทำสถิติเท่ากัน
การแข่งขันกระโดดสูงชาย กีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2020 เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2564 ลงเอยอย่างสุดประทับใจกับการครองเหรียญทองร่วมกันระหว่าง มูทาซ บาร์ชิม ของกาตาร์ และจานมาร์โก้ ทัมเบรี่ ของอิตาลี หลังจากดวลกันนาน 2 ชั่วโมง และต่างทำสถิติดีที่สุด 2.37 เมตรเท่ากัน
ซึ่งก่อนหน้าจะตัดสินให้ทั้งคู่ครองเหรียญทองร่วมกัน เจ้าหน้าที่เสนอทางเลือกให้ทั้ง 2 คนแข่งจั๊มป์ออฟ หรือผลัดกันกระโดดว่าใครจะทำสถิติดีกว่าเพื่อหาผู้ชนะเพียงหนึ่งเดียว หรือจะครองเหรียญทองร่วม ซึ่งทั้งคู่ตกลงที่จะครองเหรียญร่วม สร้างความยินดีให้กับสต๊าฟโค้ชทั้ง 2 ฝั่ง นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 1912 ที่มีการครองเหรียญทองร่วมในการแข่งขันกรีฑาโอลิมปิกเกมส์
บทความและภาพบางส่วนจาก matichon.co.th